Fri. Oct 11th, 2024

ข้อมูลทั่วไปโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า

ข้อมูลทั่วไปโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า

โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เดิมชื่อว่าโรงพยาบาลนนทบุรี สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่เลขที่ 91 ถนนนนทบุรี  ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 24 ไร่ 1 งาน 2.6 ตารางวา เปิดให้บริการวันที่  24  มิถุนายน  2500 เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดในปี พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่พระราชชนนี กรมหลวง พระศรีสุลาลัย เป็นชาวจังหวัดนนทบุรี

เดิมจังหวัดนนทบุรี ไม่มีโรงพยาบาลสำหรับช่วยเหลือในการบำบัดและรักษาประชาชนเมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้น จำเป็นต้องนำผู้ป่วยเดินทางไปรับการรักษายังโรงพยาบาลต่าง ๆ ในจังหวัดพระนครและธนบุรี ซึ่งทำให้ผู้ป่วยบางรายต้องเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง จังหวัดจึงพิจารณาเห็นว่า สมควรจัดให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลในจังหวัดขึ้น ซึ่งขณะนั้นขุนบุรี ภิรมย์กิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ โดยติดต่อกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ขอตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้าง และได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมการแพทย์ โดยสั่งการให้จังหวัดจัดหาที่ดินเตรียมไว้เมื่อได้งบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้าง

แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องที่ดินในการก่อสร้าง ซึ่งจากการเจรจากับเจ้าของที่ดินไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะเดียวกันขุนบุรีภิรมย์กิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นก็ได้ออกจากราชการเสียก่อน

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2499 นายประกอบ ทรัพย์มณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีคนต่อมา ได้บริหารงานต่อนโดยดำเนินการจัดหาที่ดิน เพื่อทำการก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ และเห็นว่าที่ดินของวัดเทพอุรุมพัง (ที่ตั้งโรงพยาบาลปัจจุบัน) มีเนื้อที่ประมาณ 16 ไร่เศษซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 6 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดนนทบุรีประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นวัดร้างและอยู่ใกล้กับที่ดินเดิมที่เคยเจรจาไว้ เห็นว่าเหมาะสมจะก่อสร้างโรงพยาบาล จึงได้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ.2532 โรงพยาบาลนนทบุรีได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ขณะนั้นโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า มีจำนวนเพียง 217 เตียง เจ้าหน้าที่ 530 คน ผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 530 คน ตั้งแต่ พ.ศ.2538 โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างมาก มีหอผู้ป่วยพิเศษ “เฉลิมพระเกียรติ” 4 ชั้น อาคารปฏิบัติการ 5 ชั้น เพื่อรองรับจำนวนผู้รับบริการที่เพิ่มมากขึ้น  ทำให้พื้นที่ในโรงพยาบาลที่มีเพียง 24 ไร่ 1 งาน 2.6 ตารางวา และเต็มไปด้วยอาคารมีที่ว่างน้อยมาก เมื่อประชาชนมารับบริการมากขึ้น และกระทรวงสาธารณสุขให้งบประมาณในการก่อสร้างเพิ่มเติม โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าซึ่งไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้อีก (ด้านหน้าติดถนนนนทบุรี ด้านหลังติดแม่น้ำเจ้าพระยา และด้านข้างถูกขนาบด้วยชุมชนมัสยิดบางกระสอและชุมชนบ้านศาลเจ้า) ต้องรื้อเรือนไม้และตึกอำนวยการหลังแรก ตึกอำนวยการหลังที่ 2 เพื่อสร้างอาหารเวชศาสตร์ฟื้นฟู หอผู้ป่วย 8 ชั้น และอาคารเจษฎาบดินทร์ 9 ชั้น 

ปัจจุบัน โรงพยาบาลพระนั่งเกล้ามีแพทย์สหสาขาที่มีศักยภาพ มีความพร้อมในการขยายการให้บริการในสาขาต่าง ๆ ตามระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของเขตสุขภาพที่ 4 โดยปัจจุบันถือเป็นโรงพยาบาลหลัก ในการดูแลสุขภาพประชาชนจังหวัดนนทบุรี จังหวัดในเขตปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงอื่น ๆ ที่อยู่ในฐานะโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 708 เตียง

Loading

Spread for Social Sharing