สารจากคณบดี

TH | EN

เกี่ยวกับคณะฯ > สารจากคณบดี

 

สารจากคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นจากระยะเริ่มต้นเป็นคณะแพทยศาสตร์เปิดใหม่ เข้าสู่ทศวรรษที่สองของการเปิดดำเนินการ ได้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งคณะฯ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในสังคมไทยได้ตามที่คาดหวังไว้ จากการสนับสนุนและร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารอาจารย์แพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ผ่านมาจนถึงปีการศึกษา 2565 นี้ คณะฯ ได้ผลิตบัณฑิตแพทย์ออกไปปฏิบัติงานในสถาบันการแพทย์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 4 รุ่น รวม 137 คน คณะฯ ผลิตผลงานวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับชาติและระดับนานาชาติหลายสิบเรื่อง ได้ร่วมงานบริการวิชาการแก่สังคม ทั้งการออกหน่วยบริการตรวจสุขภาพ การจัดกิจกรรมพัฒนานักศึกษาด้วยการออกค่ายอาสาพัฒนา และที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง คือ โครงการจิตอาสาฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ที่คณะแพทยศาสตร์ ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยสยาม โดยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเดอะมอลล์กรุ๊ป ทำการเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนในช่วงที่โรค COVID-19 กำลังระบาดอย่างหนักในวงกว้างทั่วประเทศและทั่วโลก ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ได้ระดมสรรพกำลังฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนตลอดระยะเวลา 6 เดือน จนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนราว 120,000 คน ช่วยให้ชาวไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตจากโรคระบาดร้ายแรงนี้ได้ดีขึ้น

กระผมมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งอยู่ในระยะที่มีโอกาสดีที่สุดในการนำพาคณะฯ และมหาวิทยาลัยสยาม ดำเนินกิจการตามพันธกิจต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องรวมทั้งกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือสังคม นอกจากผลงานดังกล่าว คณะฯ ได้วางระบบการบริหารจัดการเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศในด้านการจัดการศึกษาได้ทำการทบทวนและปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เป็นฉบับปรับปรุงใหม่ปี พ.ศ. 2565 ให้มีความโดดเด่น สร้างบัณฑิตแพทย์สำหรับอนาคต เป็นแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถมีความเป็นวิชาชีพ (Professional) มีความเป็นผู้นำ (Leadership) ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และมีความเป็นสากล (Internationalization) สามารถไปปฏิบัติงานทั้งในและต่างประเทศได้ โดยแพทยสภาและสภามหาวิทยาลัยสยามมีความเห็นชอบรับรองหลักสูตรใหม่ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล (TMC.WFME.BME Standard) และอนุมัติให้เปิดใช้ในปีการศึกษา 2565 นี้ ทั้งหมดนี้ไม่ได้สำเร็จได้ด้วยผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์อย่างเดียว แต่เป็นผลงานที่เกิดจากความสามัคคีของบุคลากรทุกกลุ่ม เกิดจากความร่วมมือของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และการสนับสนุนจากมูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ อีกทั้งขอขอบคุณอดีตคณบดีทุกท่านผู้อำนวยการและผู้บริหารโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าทั้งอดีตและปัจจุบันที่ให้การสนับสนุนและได้ริเริ่มวางพื้นฐานที่ดีๆมาก่อนแล้วสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในการนำพาคณะแพทย์แห่งนี้ต่อไปในอนาคต กระผมมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะนำพาคณะฯ ให้เป็นคณะแพทยศาสตร์ชั้นนำ มุ่งสู่ความเป็นสากลตามแผนยุทธศาสตร์ของคณะฯ พร้อมเข้าสู่ยุคหลังโรคระบาดใหญ่ อาทิเช่น การพัฒนาอาจารย์และบุคลากร ส่งเสริมการทำงานวิจัย การปรับปรุงทางกายภาพและสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้และการปฏิบัติงาน การจัดตั้ง E-Library จัดตั้ง Student Lounge การปฏิบัติงานที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้นในคณะแพทยศาสตร์ สำหรับในโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เพิ่มศักยภาพการจัดการศึกษา การพัฒนาอาจารย์ของศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิกจัดสร้างหอพักนักศึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพทั้งในและนอกเวลาราชการ

กระผมจึงขอเชิญชวนคณาจารย์และเจ้าหน้าที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ก้าวสู่ความสำเร็จในอนาคตที่ท้าทายนี้ร่วมกันต่อไปครับ

 

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

Loading